บันทึกแห่งสยาม

บันทึกแห่งสยาม
ความรัก ความศรัทธาของลูกหลานแผ่นดินไทย

ขอต้อนรับเข้าสู่เรือนไทยหลังนี้ ร่วมระลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย และภูมิใจในความเป็นคนไทยด้วยกัน

แผ่นเอ๋ยแผ่นดิน ในแถบถิ่นนี้ไซร้กว้างหนักหนา



แลดูไกลสุดลูกหูลูกตา ล้วนไร่นาเขียวขจีพงพีไพร



เหมือนมารดาเลี้ยงดูบุตรให้สุขศรี แผ่นดินนี้นี่แหละข้าอาศัย



ข้าตั้งจิตสนองเขตประเทศไทย รักษาให้ยั่งยืนคู่ฟ้าเอย



(พระราชนิพนธ์กลอนดอกสร้าย "แผ่นดิน" ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา)



วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สมัยรัตนโกสินทร์เริ่มเบิกฟ้าในประวัติศาสตร์ไทย

กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มหน้าประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ และ ได้พัฒนาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ได้ผ่านประสบการณ์ทั้งความสำเร็จอันงดงาม ปัญหา และวิกฤติการณ์ ช่วง ๖๙ ปีของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๙๔ หรือ สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็น "สมัยแห่งการฟื้นฟูวางรากฐานอาณาจักรให้มั่นคง" ในทุก ๆ ด้าน โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่า การก่อร่างพัฒนาประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย การเมืองและสังคมมีเสถียรภาพ ส่วนเศรษฐกิจก็ก้าวหน้ารุ่งเรือง ผลสำเร็จของการฟื้นฟูพัฒนาทำให้อาณาจักรรัตนโกสินทร์มีเกียรติภูมิและบทบาทสำคัญในสังคมระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔

นอกจากนั้นความสำเร็จของการผูกพันหัวเมืองเหนือหรือล้านนาไว้กับกรุงเทพฯ เป็นปัจจัยพื้นฐานประการหนึ่งที่ช่วยเหื้อหนุนการรวมประเทศสร้างรัฐประชาติไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการต่อตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด "เพื่อค้าเพื่อขาย" ในภาคกลางและหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ในโครงสร้างเศรษฐกิจรวมของอาณาจักรที่มีลักษณะพอเพียงเลี้ยงตัวเองนั้น ได้เป็นฐานสำคัญให้แก่การเข้าสู่ระบบทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ รวมทั้งได้ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ตั้งแต่การเริ่มเกิด "ค่านิยมเรื่องทรัพย์สินเงินทอง การตื่นตัวใฝ่หาความรู้" และ "การมีโลกทัศน์ที่เน้นความมีเหตุผลมากกว่าสมัยก่อน" ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นพื้นฐานเกื้อหนุนการเริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ในรัชการที่ ๔ ซึ่งได้พัฒนาต่อเนื่องมาอีกมากมาย

ความสำเร็จของการพื้นฟูบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงเป็นเสมือนหนึ่งการเตรียมตัวโดยมิได้คาดฝันให้แก่การเผชิญภัยจักรวรรดินิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ต่อเนื่องมาอีกหลายรัชกาล ช่วยเอื้อให้การพัฒนาเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่และการสร้างรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติไทยดำเนินไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ

นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ไทยเริ่มเผชิญกับการแผ่อำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่ดำเนินนโยบายแสวงหาอาณานิคมและเขตอิทธิพลในทวีปต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิน แรงงาน และตลาดระบายสินค้าของตน ผู้นำไทยตระหนักดีว่า การดำเนินการด้วยวิธีทางการฑูตที่สอดคล้องกับสถานนการณ์นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะวิธีการบริหารประเทศ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมาช้านานนั้นมีหลายประการที่พ้นสมัย ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยให้เผชิญภัยจักรวรรดินิยมและสร้างสรรค์ความเจริญกำวหน้าแก่บ้านเมืองได้ การปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยจึงเริ่มต้นขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ดำเนินการมากยิ่งในรัชกาลที่ ๕ และสานผลต่าง ๆ สืบต่อมาไม่ขาดสาย

การปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งค่านิยมของสังคมในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่วิธีการบริหารปกครอง การคลัง การภาษีอากร การควบคุมกำลังคน การจัดการทหาร การศึกษา ศาสนา ระบบกฎหมายและการศาล ระบบเศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนถึงอาหารการกิน ความเป็นอยู่ สถาปัตยกรรม มารยาท การแต่งกาย และการพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้การปรับปรุงต่าง ๆ มักดำเนินไปตามแบบแผนอารยธรรมตะวันตก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติมหาอำนาจในขณะนั้นที่ถือว่าอารยธรรมตะวันตกเป็นแม่แบบแห่งความเจริญก้าวหน้า

ในระยะแรกของการปรับปรุงบ้านเมือง รัฐบาลได้รวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการบังคับบัญชาการปฏิรูปบ้านเมือง มีเงินทุนเพียงพอ และสามารถสร้างสรรค์บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยดำเนินการต่าง ๆ ได้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่กลางรัชกาลที่ ๕ เรื่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปบ้านเมืองตามแบบตะวันตกโดยเฉพาะการศึกษานั้น ได้นำอุดมการณ์ระบบประชาธิปไตที่เป็นรากฐานความเจริญก้าวหน้าของชาติตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทยด้วย เริ่มในหมู่ชนชั้นนำก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วขยายสู่ปัญญาชนสามัญชนมากขึ้นในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.๒๔๗๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น