บันทึกแห่งสยาม

บันทึกแห่งสยาม
ความรัก ความศรัทธาของลูกหลานแผ่นดินไทย

ขอต้อนรับเข้าสู่เรือนไทยหลังนี้ ร่วมระลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย และภูมิใจในความเป็นคนไทยด้วยกัน

แผ่นเอ๋ยแผ่นดิน ในแถบถิ่นนี้ไซร้กว้างหนักหนา



แลดูไกลสุดลูกหูลูกตา ล้วนไร่นาเขียวขจีพงพีไพร



เหมือนมารดาเลี้ยงดูบุตรให้สุขศรี แผ่นดินนี้นี่แหละข้าอาศัย



ข้าตั้งจิตสนองเขตประเทศไทย รักษาให้ยั่งยืนคู่ฟ้าเอย



(พระราชนิพนธ์กลอนดอกสร้าย "แผ่นดิน" ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา)



วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การขับเสภา

เสภารำมีวิวัฒนาการมาจากการขับเสภาซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงเศรีอยุธยา ดังปรากฎในกฎมนเฑียรบาลที่ตั้งขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถว่า "หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี"

เครื่องดนตรีประกอบการขับเสภาในสมัยโบราณใช้แต่กรับขยับประกอบทำนองขับ รัชกาลที่ ๒ โปรดให้จัดวงปี่พาทย์ประกอบ ให้แทรกเพลงร้องส่งและมีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์เหมือนการแสดงละคร ต่อมาจะมีผู้รำ รำทำบทบาทตามท้องเรื่องที่ขับ และรำตามจังหวะเพลงปี่พาทย์ จึงเรียก "เสภารำ" บางครั้งมีบทตลกแทรกจึงเรียก "เสภาตลก"

วรรณกรรมที่นิยมประกอบการขับเสภาคือเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้คิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่งเลียนแบบขุนช้างขุนแผน โดยนำเรื่องพระรถเมรีตอนฤษีแปลงสารมาปรับปรุง แต่ไม่เป็นที่นิยม

ความบันเทิงใจที่ได้ชมเสภารำ คือ การได้ฟังการขับอันไฟเราะและชวนให้เกิดอารมณ์ตามบทของตัวละครต่าง ๆ ตามท้องเรื่อง ประกอบกับได้ชมท่ารำอันสวยงามที่ทำให้สนุกสนานยิ่งขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เชิดหุ่น

หุ่น..เป็นการแสดงที่ใช้รูปจำลองจากของจริงมาชักหรือเชิดให้มีอากับปกิริยาสอดคล้องกับเนื้อเรื่องทีใช้ประกอบการแสดง หุ่นที่เป็นมหรสพประเภทหนึ่งของไทย ได้แก่ "หุ่นหลวง หุ่นจีน หุ่นไทยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็ก"

หุ่นหลวง..เป็นหุ่นขนาดใหญ่ตัวสูงประมาณ ๑ เมตร ทำเป็นรูปคนเต็มตัว อวัยวะต่าง ๆ เช่น นิ้ว มือ แขน ขา เคลื่อนไหวได้ หุ่นหลวงเป็นมหรสพที่เล่นกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องที่เล่นได้แก่เรื่อง "ไชยทัต สังข์ศิลป์ไชย และ รามเกียรติ์"

หุ่นจีน และหุ่นไทย..กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นรูปคนเต็มตัวเช่นเดียวกับหุ่นหลวง แต่ ตัวสูงประมาณ ๑ ฟุต หุ่นจีนแต่งกายแบบงิ้ว เรื่องที่เล่นเป็นเรื่องจีน เช่น ซวยงัก หุ่นไทยส่วนหญ่เป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์

หุ่นกระบอก..ดัดแปลงจากหุ่นไหหลำ ไม่มีลักษณะคล้ายคนเต็มตัว ส่วนที่เลียนแบบลักษณะคนจริง ๆ คือ ศรีษะและมือ ลำตัวใช้กระบอกไม้ไผ่ทั้งปล้องสวมตั้งแต่คอลงมา แกนไม้กระบอกคลุมด้วยเสื้อปล่อยชายยาวลงมา หุ่นกระบอกนิยมเล่นเรื่อง "พระอภัยมณี" ของ สุนทรภู่

หุ่นละครเล็ก..เป็นหุ่นเต็มตัวสูงประมาณ ๑ เมตร แต่งกายแบบละครคล้ายหุ่นหลวง มีวิธีเชิดคล้ายหุ่นกระบอก

เครื่องดนตรี..ที่ใช้ประกอบการเล่นหุ่นคือ ปีพาทย์ มักนิยมใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า อันประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องใหญ่ ตะโพน และกลองทัด และ มีเครื่องกำกับจังหวะพวกฉิ่งและกรับ สำหรับการเล่นหุ่นกระบอกต้องมีเครื่องดนตรีประเภทซออู้ กลองต๊อก และแต๋ว เพลงที่ใช้แสดงหุ่นคล้ายการแสดงละคร แต่หุ่นกระบอก มีเพลงหุ่นและเพลงสังขาราซึ่งร้อยเคล้าซออู้

ความบันเทิงและความสนุกสนานที่เกิดจากการดูการเล่นหุ่น คือ การได้ชมตัวหุ่นที่สวยงามและน่าเอ็นดูอย่างหุ่นกระบอก ได้ชื่นชมกับวิธีเชิดของคนเชิดที่ทำให้หุ่นมีชีวิตจิตใจได้ นอกจากนั้นยังได้ฟังบทเจรจาที่คมคาย บางครั้งก็ชวนขัน ซึ่งอาจเกิดจากการเสียดสีประชดประชันสังคมก็ได้

ระบำ รำ ฟ้อน

ไทยมีการละเล่นหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นการแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีจังหวะงดงามเรียกว่า "ระบำ รำ ฟ้อน" มีการนำหุ่นที่จำลองจากคนมาแสดงท่าทางประกอบดนตรีและบทร้อง และมีการเล่านิทานเป็นทำนองดังการขับเสภา
การรำเป็นการแสดงที่ผู้แสดงจะเคลื่อนไหวมือ แขน ขา ใบหน้า และลำตัวให้อยู่ในอิริยาบทที่อ่อนช้อย งดงามเข้ากับจังหวะเพลงและดนตรี การรำแบ่งเป็น ๒ ลักษณะคือ การรำหน้าพาทย์ และรำบท การรำหน้าพาทย์..เป็นการรำตามจังหวะและทำนองของเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับบท การรำบทเป็นการรำที่แสดงท่าตามบทให้ท่ารำมีความสอดคล้องกับบทเพื่อให้ผู้ชมทเข้าใจเรื่อง การรำหน้าพาทย์ และการรำบท อาจเป็นการรำเดี่ยว รำคู่ หรือรำหมู่ก็ได้

การรำเดี่ยว..เป็นการรำที่ผู้แสดงได้อวดฝีมือในการรำมาก การรำเดี่ยวนี้อาจแทรกอยู่ในการแสดงเป็นเรื่อง หรือ อาจเป็นการรำสลับฉาก หรือ การรำชุดสั้น ๆ ก็ได้ การรำเดี่ยวที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ การรำฉุยฉาย ซึ่งเป็นการรำที่มีลีลางดงาม ท่วงทีกรีดกราย การรำฉุยฉายจะนำตัวละครจากวรรณคดีมาเป็นตัวละครในบท เช่น ฉุยฉายพราหมณ์ซึ่งอยู่ในบทละครเบิกโรงเรื่อง "พระคเณศเสียงา" พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ตอนพระนารายณ์แปลงเป็นพราหมณ์ไปเฝ้าพระอิศวรและพระอุมา และการรำฉุยฉายเบญกายแปลงจากเรื่อง"รามเกียรติ์" เป็นต้น

ความบันเทิงใจที่เกิดจากการได้ชมการรำเดี่ยว เกิดจากการได้ชมท่ารำอันงดงาม และบท ตลอดจนดนตรีประกอบที่ทำให้ผู้ชมได้ชมตัวละครที่งดงาม ยิ้มแย้ม ตลอดจนลีลาท่ารำที่กรีดกราย งดงามตามแบบแผน

การรำคู่..ก็เป็นการนำตัวละครจากวรรณกรรมมารำเช่นเดียวกับการรำเดี่ยว เช่น หนุมานจับสุวรรณมัจฉาเมขลารามสูร และนารายณ์ปราบนนทุก จากเรื่อง "รามเกียรติ์" นางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยซึ่งเป็นรำคู่ของนางรจนากับเจ้าเงาะ จากเรื่อง"สังข์ทอง" และการรำคู่ของพระลอกับไก่ฟ้า จากตอนพระลอตามไก่ เป็นต้น

ระบำ..เป็นการรำที่มีผู้รำจำนวนมากกว่าสองคนขึ้นไป จัดเป็นแถวลักษณะต่าง ๆ อย่างมีระเบียบและสวยงาม จุดมุ่งหมายของระบำคือ เพื่อแสดงความงามของศิลปะการรำและความงดงามของเสื้อผ้าอาภรณ์เท่านั้น ไม่มีการดำเนินเรื่อง ระบำบางชุดแต่งขึ้นเพื่อประกอบการแสดงเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบำเริงอรุณเป็นระบำฉากนำในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกวิรุณจำบัง และระบำนพรัตน์เป็นระบำประกอบการแสดงเรื่อง"สุวรรณหงศ์" ตอน พราหมณ์เล็กพราหมณ์โต เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รายได้-รายจ่ายสมัยอยุธยา

ในสมัยอยุธยา รายได้นั้น อยู่ภายใต้ระบบการผลิตแบบพอยังชีพและการค้าแบบศักดินา รายได้หลักของรัฐมาจากส่วยซึ่งได้จากแรงงานไพร่ ส่วยส่วนหนึ่งถูกใช้ในราชอาณาจักร อีกส่วนหนึ่ง ถูกส่งเป็นสินค้าออก ทำให้รัฐมีรายได้จากการค้าต่างประเทศโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก นอกจากนี้ รัฐยังมีรายได้จากภาษีอากรหลายประเภท รายได้จากเครื่องราชบรรณาการ และบรรณาการจากต่างประเทศ รายได้จากการเกณฑ์เฉลี่ย รายได้จากมรดกของขุนนาง รายได้จากการริบราชบาตรและเงินพินัยหลวง รวมทั้งรายได้จากการให้พ่อค้ากู้เงินไปลงทุน
(ริบบาตร หมายถึง การริบทรัพย์สินทั้งหมดของคนที่ต้องพระราชอาญาเข้าเป็นของหลวง)

รายจ่าย ในสมัยอยุธยา มีหลายประเภท ได้แก่ รายจ่ายด้านการพระศาสนา รายจ่ายในราชสำนัก รายจ่ายในการพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ แก่ขุนนาง รายจ่ายในการถวายบรรณาการแก่จักรพรรดิจีน และการลงทุนค้าขาย รายจ่ายในด้านการทหาร รวมทั้งรายจ่ายเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในราชอาณาจักร ในบรรดารายจ่ายเหล่านี้ที่เป็นรายจ่ายหลักซึ่งรัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากได้แก่ รายจ่ายด้านการพระศาสนาและรายจ่ายในราชสำนัก เนื่องจากเป็นรัฐที่บริหารงานบ้านเมืองด้วยระบบราชการที่มีพื้นฐานอยู่บนระบบมูลนาย-ไพร่ ที่มีขุนนางศักดินาเป็นตัวจักรกลของระบบ

รายได้-รายจ่ายสมัยสุโขทัย

สันนิษฐานว่าในสมัยสูโขทัย รายได้ของรัฐส่วนใหญ่คงจะเป็นแรงงานเกณฑ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เสริมด้วยภาษีอากรที่เก็บจากผลผลิตทางการเกษตร การค้าผลผลิตที่เหลือใช้และบรรณาการจากเมืองขึ้น
ส่วนรายจ่ายนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่การพระศาสนา เสริมด้วยรายจ่ายด้านการปกครองดูแลอาณาจักร ตามลักษณะของสังคมจารีตที่อยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบพอยังชีพ

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การค้าในสมัยอยุธยา

การค้าภายในสมัยอยุธยามีปริมาณไม่มาก ส่วนการค้ากับต่างประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจอยุธยาตลอดระยะเวลา 417 ปี และ สภาพทำเลที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเหมาะกับการค้า ได้ช่วยส่งเสริมให้การการกับต่างประเทศของอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น

อาณาจักรอยุธยา มีบทบาทสำคัญ 2 ประการ ในการค้านานาชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทเด่นที่สุดประการแรก คือ การเป็นศูนย์รวมของสินค้าประเภทของป่า ส่วนบทบาทสำคัญประการต่อมา คือ การเป็นศูนย์กลางของการค้าส่งผ่าน บทบาททั้ง 2 ข้อนี้ จะมีความโดดเด่นต่างกันในการค้ากับต่างประเทศของอยุธยาในแต่ละช่วง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร

การเกษตรในสมัยอยุธยา

ความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นดินแดนแกนกลางของอาณาจักรอยุธยา ทำให้เศรษฐกิจของอยุธยามีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การเกษตร แต่เป็นการเกษตรที่ยังใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งพื่งพาธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ และมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อการบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ หากมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคจึงจะส่งไปขายต่างประเทศ

การทำเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัย

การทำเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัย เป็นกิจกรรมเสริมทางเศรษฐกิจที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตเพื่อสนองความต้องการของตลาดภายใน และแว่นแคว้นใกล้เคียง รวมทั้งเคยส่งเป็นสินค้าออกอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

จุดมุ่งหมายหลักในการผลิตเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย คือ เพื่อสนองความต้องการของตลาดภายในและแว่นแคว้นใกล้เคียง และเริ่มมีการส่งออกเครื่องสังคโลกในช่วงปลายสมัยสุโขทัย โดยอยุธยาน่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมการค้าเครื่องสังคโลกอยู่มาก ต่อมาเมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาใน พ.ศ.1981 แล้ว เครื่องสังคโลกก็ยังคงเป็นสินค้าออกอยู่อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง

การค้าในสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัย การค้าเป็นกิจกรรมเสริมทางเศรษฐกิจจากพื้นฐานหลักซึ่งอยู่ที่การเกษตร ประกอบด้วยการค้าภายใน การค้ากับแว่นแคว้นใกล้เคียง และการค้ากับต่างประเทศ สภาพทำเลที่ตั้งที่อยู่ห่างจากทะเลมาก ทำให้สุโขทัยต้องพึ่งเมืองท่าของอาณาจักรอื่น ทางด้านตะวันตกและด้านใต้ในการส่งสินค้าออกสู่ตลาดภายนอก สุโขทัยจึงไม่ได้รับความมั่งคั่งจากการค้ากับต่างประเทศมากนัก

การเกษตรในสมัยสุโขทัย

การเกษตรในสมัยสุโขทัยเป็นการเกษตรแบบพอยังชีพ มีการเพาะปลูกเป็นพื้นฐานหลัก เสริมด้วยการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งต้องอาศัยการจัดและการบำรุงรักษาระบบชลประทาน การผลิตจึงจะได้ผลดี ผลผลิตที่ได้จึงแปรผันไปตามประสิทธิภาพการจัดการด้านชลประทาน

การเกษตรในสมัยสุโขทัยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการบริโภคเลี้ยงตนเองภายในอาณาจักร ใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม มีการเพาะปลูกเป็นพื้นฐานหลัก เสริมด้วยการเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตต้องอาศัยระบบชลประทานการเกษตรที่ได้จึงไม่คงที่

ไพร่ในสมัยอยุธยา

แรงงานไพร่..เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจสมัยอยุธยา

ไพร่ในสมัยอยุธยา แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไพร่สม เป็นไพร่ส่วนตัวของพวกมูลนาย เจ้านาย ขุนนาง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ตามศักดินาของมูลนายแต่ละคน ส่วนอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ไพร่หลวง เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์และเป็นไพร่ส่วนใหญ่ของอาณาจักร พระองค์ทรงควบคุมพวกไพร่หลวงผ่านทางพวกขุนนาง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบริหารอาณาจักร

สรุปปัจจัยการผลิตด้านที่ดินสมัยสุโขทัยและอยุธยาพอสังเขป

สันนิษฐานว่า ในสมัยสุโขทัยมีแนวคิดว่า พ่อขุนเป็นเจ้าของและผู้ดูแลที่ดินในอาณาจักร และสนับสนุนให้ประชาชนหักร้างถางพงที่ดินเพื่อเพาะปลูก รวมทั้งให้ประชาชนมีสิทธิในการถือครองที่ดินทำกิน และเป็นมรดกสืบทอดถึงลูกหลานได้

ส่วนในสมัยอยุธยานั้น มีการจัดการด้านที่ดินที่เป็นระบบมากกว่าสมัยสุโขทัย ในทางพฤษฎี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั่วทั้งอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัติพระองค์ได้พระราชทานสิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์แก่เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส ลดหลั่นกันไปตามศักดินาที่แต่ละคนมีอยู่ รวมทั้งได้ทรงกัลปนาที่ดินแก่วัดด้วย ในสังคมศักดินาสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ มูลนาย และวัดจึงเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตด้านที่ดิน ส่วนประชาชนนั้นมีสิทธิในที่ดินที่ตนทำกิน ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ดิน และรัฐได้สนับสนุนให้ประชาชนหักร้างถางพงบุกเบิกที่ดินเพาะปลูกด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อจะได้ประโยชน์จากการเก็บส่วยสาอากรจากประชาชนในผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้จากผืนดิน อนึ่ง สิทธิ์ในการถือครองที่ดินที่ครอบครองนั้นเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานและซื้อขายกันได้

ปัจจัยการผลิตเรื่องแรงงาน

ในสมัยอยุธยา ชนชั้นผู้ปกครองเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตด้านแรงงานภายใต้ระบบไพร่ซึ่งเป็นการควบคุมผ่านกรมกองต่าง ๆ ที่พวกขุนนางบริหารดูแล ในระบบควบคุมนี้ ไพร่หรือราษฎรไม่มีอิสระในแรงงานของตนทั้งหมด ต้องผูกพันแรงงานส่วนหนึ่งกับรัฐในรูปของแรงงานเกณฑ์หรือ การส่งส่วยซึ่งมีทั้งส่วยสิ่งของและส่วยเงิน

ปัจจัยการผลิตเรื่องแรงงาน

ในสมัยสุโขทัย ชนชั้นผู้ปกครองเป็นผู้ควบคุมจัดสรรปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน วิธีการควบคุมนั้นไม่เคร่งครัด เพียงแต่จัดให้พวกไพร่อยู่กันเป็นหมวดหมู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามลำดับชั้นของพวกขุนนาง เพื่อให้เกิดความสะดวกในยามที่ต้องการเกณฑ์แรงงานไปใช้

ปัจจัยการผลิตเรื่องที่ดิน

ในสมัยอยุธยา ในทางพฤษฎีพระมหากษัมตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั่วทั้งอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัตินั้นทรงกระจายพระราชทานสิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์แก่เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส ตามศักดินาที่แต่ละคนมีอยู่ และทรงกัลปนาที่ดินแก่วัดต่าง ๆ ที่ดินที่ได้สิทธิในการถือครองนั้นสืบทอดถึงลูกหลานและซื้อขายกันได้

ปัจจัยการผลิตเรื่องที่ดิน

สันนิษฐานว่า ในสมัยสุโขทัยมีแนวคิดว่าพ่อขุนเป็นเจ้าของและผู้ดูแลปัจจัยการผลิตเรื่องที่ดิน ประชาชนมีสิทธิถือครองที่ดินที่ตนหักร้างบุกเบิกทำกิน และที่ดินที่ถือครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้