บันทึกแห่งสยาม

บันทึกแห่งสยาม
ความรัก ความศรัทธาของลูกหลานแผ่นดินไทย

ขอต้อนรับเข้าสู่เรือนไทยหลังนี้ ร่วมระลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย และภูมิใจในความเป็นคนไทยด้วยกัน

แผ่นเอ๋ยแผ่นดิน ในแถบถิ่นนี้ไซร้กว้างหนักหนา



แลดูไกลสุดลูกหูลูกตา ล้วนไร่นาเขียวขจีพงพีไพร



เหมือนมารดาเลี้ยงดูบุตรให้สุขศรี แผ่นดินนี้นี่แหละข้าอาศัย



ข้าตั้งจิตสนองเขตประเทศไทย รักษาให้ยั่งยืนคู่ฟ้าเอย



(พระราชนิพนธ์กลอนดอกสร้าย "แผ่นดิน" ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา)



วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ระบำ รำ ฟ้อน

ไทยมีการละเล่นหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นการแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีจังหวะงดงามเรียกว่า "ระบำ รำ ฟ้อน" มีการนำหุ่นที่จำลองจากคนมาแสดงท่าทางประกอบดนตรีและบทร้อง และมีการเล่านิทานเป็นทำนองดังการขับเสภา
การรำเป็นการแสดงที่ผู้แสดงจะเคลื่อนไหวมือ แขน ขา ใบหน้า และลำตัวให้อยู่ในอิริยาบทที่อ่อนช้อย งดงามเข้ากับจังหวะเพลงและดนตรี การรำแบ่งเป็น ๒ ลักษณะคือ การรำหน้าพาทย์ และรำบท การรำหน้าพาทย์..เป็นการรำตามจังหวะและทำนองของเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับบท การรำบทเป็นการรำที่แสดงท่าตามบทให้ท่ารำมีความสอดคล้องกับบทเพื่อให้ผู้ชมทเข้าใจเรื่อง การรำหน้าพาทย์ และการรำบท อาจเป็นการรำเดี่ยว รำคู่ หรือรำหมู่ก็ได้

การรำเดี่ยว..เป็นการรำที่ผู้แสดงได้อวดฝีมือในการรำมาก การรำเดี่ยวนี้อาจแทรกอยู่ในการแสดงเป็นเรื่อง หรือ อาจเป็นการรำสลับฉาก หรือ การรำชุดสั้น ๆ ก็ได้ การรำเดี่ยวที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ การรำฉุยฉาย ซึ่งเป็นการรำที่มีลีลางดงาม ท่วงทีกรีดกราย การรำฉุยฉายจะนำตัวละครจากวรรณคดีมาเป็นตัวละครในบท เช่น ฉุยฉายพราหมณ์ซึ่งอยู่ในบทละครเบิกโรงเรื่อง "พระคเณศเสียงา" พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ตอนพระนารายณ์แปลงเป็นพราหมณ์ไปเฝ้าพระอิศวรและพระอุมา และการรำฉุยฉายเบญกายแปลงจากเรื่อง"รามเกียรติ์" เป็นต้น

ความบันเทิงใจที่เกิดจากการได้ชมการรำเดี่ยว เกิดจากการได้ชมท่ารำอันงดงาม และบท ตลอดจนดนตรีประกอบที่ทำให้ผู้ชมได้ชมตัวละครที่งดงาม ยิ้มแย้ม ตลอดจนลีลาท่ารำที่กรีดกราย งดงามตามแบบแผน

การรำคู่..ก็เป็นการนำตัวละครจากวรรณกรรมมารำเช่นเดียวกับการรำเดี่ยว เช่น หนุมานจับสุวรรณมัจฉาเมขลารามสูร และนารายณ์ปราบนนทุก จากเรื่อง "รามเกียรติ์" นางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยซึ่งเป็นรำคู่ของนางรจนากับเจ้าเงาะ จากเรื่อง"สังข์ทอง" และการรำคู่ของพระลอกับไก่ฟ้า จากตอนพระลอตามไก่ เป็นต้น

ระบำ..เป็นการรำที่มีผู้รำจำนวนมากกว่าสองคนขึ้นไป จัดเป็นแถวลักษณะต่าง ๆ อย่างมีระเบียบและสวยงาม จุดมุ่งหมายของระบำคือ เพื่อแสดงความงามของศิลปะการรำและความงดงามของเสื้อผ้าอาภรณ์เท่านั้น ไม่มีการดำเนินเรื่อง ระบำบางชุดแต่งขึ้นเพื่อประกอบการแสดงเรื่องต่าง ๆ เช่น ระบำเริงอรุณเป็นระบำฉากนำในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกวิรุณจำบัง และระบำนพรัตน์เป็นระบำประกอบการแสดงเรื่อง"สุวรรณหงศ์" ตอน พราหมณ์เล็กพราหมณ์โต เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น